มิติหุ้น – ปี 2025 ปริมาณการใช้งานเหล็กของไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 16.2 ล้านตัน (+1.7%YOY) ขณะที่ราคาเหล็กโดยเฉลี่ยยังคงมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน 4.8%YOY
ปริมาณการใช้งานเหล็กทรงยาว และเหล็กทรงแบนในปี 2025 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 6.1 ล้านตัน (+2.3%YOY) และ 10.0 ล้านตัน (+1.4%YOY) ตามลำดับ เป็นผลจากปัจจัยหนุนด้านโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว แต่ยังมีปัจจัยกดดันการเติบโตของปริมาณการใช้งานจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศที่คาดว่ายังหดตัว ขณะที่ราคาเหล็กยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยราคาเหล็กทรงยาว และราคาเหล็กทรงแบน จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 20,900 บาท/ตัน (-3.9%YOY) และ 22,700 บาท/ตัน (-5.6%YOY) ตามลำดับ หรือลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 4.8%YOY ตามแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบการผลิตและราคาพลังงาน ประกอบกับปัจจัยกดดันราคาจากการเข้ามาของเหล็กราคาถูกจากจีนที่มีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะส่งผลให้มีความเข้มงวดกับการตรวจสอบมาตรฐานเหล็กมากขึ้น ทั้งที่ถูกผลิตจากโรงงานในประเทศ และสินค้าเหล็กนำเข้า โดยผู้ผลิตเหล็กของไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้านความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตเหล็กที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังคงเผชิญความท้าทายทั้งการทะลักเข้ามาของเหล็กจีน และนโยบาย Trump 2.0 ที่มีการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กเป็น 25%
SCB EIC ประเมินว่าสินค้าเหล็กจากจีนจะยังคงถูกระบายเข้ามายังไทยต่อเนื่องในปี 2025 โดยเฉพาะการเข้ามาของสินค้าเหล็กปลายน้ำ เช่น เหล็กเคลือบหรือชุบสังกะสี (Galvanized steel) เหล็กทาสี ที่มีสัดส่วนการนำเข้ามาใช้งานมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้งานเหล็กกลางน้ำที่ผลิตในประเทศเพื่อนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กปลายน้ำลดลง รวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าเหล็กปลายน้ำของไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าเหล็กปลายน้ำนำเข้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กของสหรัฐอเมริกาเป็น 25% จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกเหล็กไทยไม่มาก เนื่องจากสินค้าเหล็กจากไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาในอัตรา 25% มาตั้งแต่ปี 2018 อยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากการทะลักเข้ามาของเหล็กนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เคยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2018 โดยประเทศเหล่านั้นจะเริ่มถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ส่งผลให้อาจมีการระบายสินค้ามายังไทยแทน ซ้ำเติมผู้ผลิตเหล็กของไทยให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม
Industry overview
ไทยมีการผลิตเหล็กที่ราว 7 ล้านตัน/ปี
อุตสาหกรรมเหล็กของไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการกลุ่มกลางน้ำ และผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการกลุ่มกลางน้ำ เป็นผู้ผลิตและแปรรูปวัตถุดิบเหล็กขั้นกลาง ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) และเหล็กแท่งยาว (Billet) ซึ่งส่วนมากต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการหลอมเศษเหล็กในประเทศเพื่อนำมาผลิตเป็นเหล็กกลางน้ำ ยังคงไม่เพียงพอต่อการนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าเหล็กขั้นปลาย สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มปลายน้ำ เป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นปลาย โดยการนำผลิตภัณฑ์เหล็กกลางน้ำไปแปรรูป ผ่านกระบวนการรีดร้อน รีดเย็น เคลือบผิว หรือนำไปขึ้นรูปเป็นเหล็กในรูปทรงต่าง ๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน/เย็น เหล็กเคลือบ/ชุบ เหล็กเส้น และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณต่าง ๆ
ทั้งนี้สามารถจำแนกผู้ประกอบการตามกิจกรรมและกลุ่มประเภทสินค้าได้ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว 2) ผู้ผลิตเหล็กทรงแบน 3) ผู้ค้าเหล็ก และ 4) ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่มีการผลิตหรือจำหน่ายเหล็กซึ่งไม่ได้ถูกจัดกลุ่มไว้ใน 3 กลุ่มข้างต้น
รูปที่ 1 : บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดอุตสาหกรรมเหล็ก
การใช้งานเหล็กของไทยต้องอาศัยการนำเข้ากว่า 66%
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อุตสาหกรรมเหล็กของไทย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กทรงยาวสำหรับการก่อสร้างในประเทศ ขณะที่เหล็กราคาถูกจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงต่อเนื่อง
การประกาศยกเลิกใช้งานเตาหลอมประเภทอินดักชัน (Induction furnace : IF) โดยรัฐบาลจีนในปี 2021 ทำให้อุปทานสินค้าเหล็กในช่วงดังกล่าวหยุดชะงัก อีกทั้ง สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2022 ได้ส่งผลให้ราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดกว่า 60% เมื่อเทียบกับราคาเหล็กในช่วงก่อนปี 2021 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 มาถึงปี 2024 ราคาเหล็กได้มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยทางด้านอุปสงค์ที่หดตัวจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ขณะที่การผลิตยังคงมีเพิ่มขึ้นจนเกิดภาวะล้นตลาด (Overcapacity) ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ได้แก่ ผู้ผลิตเหล็ก และผู้ค้าเหล็ก ที่ต่างเผชิญภาวะรายได้หดตัว รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถบริหารจัดการสต็อกได้ดี ยังเผชิญภาวะขาดทุนจากสต็อกสินค้าที่ระบายได้ช้ากว่าอัตราการลดลงของราคาเหล็ก
การผลิตเหล็กของไทยเป็นการผลิตเพื่อใช้งานในประเทศเป็นหลัก โดยในช่วงปี 2020-2024 มีการผลิตเหล็กในประเทศโดยเฉลี่ยประมาณ 7 ล้านตัน/ปี แบ่งเป็นการผลิตเหล็กทรงยาวที่ใช้ในการก่อสร้าง 70% และอีก 30% เป็นการผลิตเหล็กทรงแบน ที่นำไปใช้ทั้งในการก่อสร้าง การผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ขณะที่ความต้องการใช้งานเหล็กโดยรวม ในประเทศประมาณ 17.0 ล้านตัน/ปี ในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาใช้งานมากถึง 11.3 ล้านตัน/ปี คิดเป็นสัดส่วน 66% ของปริมาณการใช้งานเหล็กในประเทศ
ทั้งนี้ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าเหล็กของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น โครงสร้างต้นทุน ราคาเหล็กจากต่างประเทศที่ถูกกว่า การส่งสินค้าเหล็กเข้ามาทุ่มตลาด การระบายอุปทานส่วนเกินของเหล็กจีนจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ความต้องการเหล็กในจีนหดตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และต้องลดปริมาณการผลิตเหล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กราคาถูกกว่าจากต่างประเทศได้ กระทบกับความสามารถในการสร้างรายได้ และรักษาอัตรากำไร โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศโดยเฉพาะเหล็กกลางน้ำ ลดลงจนเข้าสู่ระดับที่ต่ำกว่า 30% ของกำลังการผลิตโดยรวม สะท้อนภาวะวิกฤตของอุตสาหกรรม
อ่านต่อได้ที่ : https://www.mitihoon.com/2025/05/16/544580/